เมื่ออังคารที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2)

เมื่ออังคารที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) ของโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบและบูรณะสะพาน บนทางหลวงในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม (ระยะที่ 1) กลุ่มที่ 1 พื้นที่แขวงทางหลวงนครปฐม และแขวงทางหลวงราชบุรี (ครอบคลุมเขตปกครองในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดราชบุรี) ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meeting โดยมี นายศุภชัย ครุฑดำ นายอำเภอโพธาราม เป็นประธานการประชุม และนายวิศรุต พุ่มอินทร์ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวรายงาน และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการซ่อมแซม บูรณะสะพาน และองค์ประกอบที่เหมาะสมของโครงการทางด้านวิศวกรรม การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ รับทราบข้อมูลความก้าวหน้า การศึกษาของโครงการ แนวทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม มีรายละเอียดการนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ รายละเอียดของโครงการ แนวคิดในการกำหนดทางเลือกรูปแบบโครงการ สรุปรูปแบบการพัฒนาโครงการ การศึกษาสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการซ่อมแซม บูรณะสะพาน และองค์ประกอของโครงการให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการใช้งานให้มากที่สุด ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา สถานพยาบาล ผู้นำชุมชน สถานประกอบการ และประชาชนในพื้นที่จำนวน 95 คน (ในห้องประชุม 56 คน และร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meeting จำนวน 39 คน) สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
    1. หากประชาชนที่อยู่ใกล้สะพานหรือถนน ที่ติดกับสะพานชำรุด หัก พื้นสะพานร้าว สามารถติดต่อช่องทางใด
    2. สะพานที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จะซ่อมแซมหรือบูรณะเมื่อใด ทำพร้อมกันทั้งหมดหรือไม่ จะเกิดปัญหาการจราจรหรือไม่
    3. ขอให้ออกแบบทางลอดใต้สะพานคลองวังตะกู ถนนมาลัยแมน บนทางหลวงหมายเลข 321 กม.ที่ 4+430
    4. เสนอให้มีจุดกลับรถทั้งขาเข้า-ขาออก บริเวณทางขึ้น-ลงมอเตอร์เวย์ ถนนมาลัยแมน บนทางหลวงหมายเลข 321 กม.ที่ 6+600
    5. ขอให้ติดตั้งหลักล้มลุกบริเวณทางเข้าเรือนจำนครปฐม ถนนมาลัยแมน บนทางหลวงหมายเลข 321 กม.ที่ 6+000
    6. ก่อนเริ่มปรับปรุงโครงการจะมีทีมวิศวกรเข้ามาแจ้งหรือพูดคุยแนะนำล่วงหน้าหรือไม่
    7. ในไลน์ของโครงการได้มีการอัพเดตการเริ่มโครงการปรับปรุงสะพานต่างๆ หรือไม่
    8. สอบถามความคืบหน้างานปรับปรุงสะพาน โครงการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานโพธิ์แก้วช่องที่ 7 ถนนเพชรเกษม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และโครงการศึกษาสำรวจออกแบบและปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4 (ช่วงนครปฐม-ราชบุรี)
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ตอบข้อซักถามแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมไปพิจารณาประกอบศึกษาออกแบบต่อไป