เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2)

เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) ของโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบและบูรณะสะพาน บนทางหลวงในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม (ระยะที่ 1) กลุ่มที่ 2 พื้นที่แขวงทางหลวงสมุทรสาคร และแขวงทางหลวงสมุทรสงคราม (ครอบคลุมเขตปกครองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม) ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meeting โดยมี นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานการประชุม และนายพิพัฒน์ ละอองศรี รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสงคราม กล่าวรายงาน และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการซ่อมแซม บูรณะสะพาน และองค์ประกอบที่เหมาะสมของโครงการทางด้านวิศวกรรม การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าการศึกษาของโครงการ แนวทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม มีรายละเอียดการนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ รายละเอียดของโครงการ แนวคิดในการกำหนดทางเลือกรูปแบบโครงการ สรุปรูปแบบการพัฒนาโครงการ การศึกษาสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการบูรณะ ซ่อมแซมสะพาน และองค์ประกอบของโครงการให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการใช้งานมากที่สุด ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา สถานพยาบาล ผู้นำชุมชน สถานประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ จำนวน 79 คน (ในห้องประชุม 43 คน และร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meeting จำนวน 36 คน) สรุปผลการประชุมได้ดังนี้

1. เสนอแนะให้ใช้เหล็กในการเสริมสะพาน เนื่องจากการเสริมกำลังโดยใช้แผ่นโพลีเมอร์เสริมเส้นใยคาร์บอน ไม่ทนต่อรังสี UV และมีค่าใช้จ่ายสูง

2. การให้คะแนนเลือกระดับความเสียหายของการบูรณะสะพานอ้างอิงจากแหล่งใด และนำกระบวนการใดมาวิเคราะห์

3. ขอให้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในเรื่องการเดินเรือ และตรวจสอบสภาพแวดล้อม ความเหมาะสมของตอม่อก่อนการบูรณะ ซ่อมแซม หรือก่อสร้างสะพาน

4. เสนอแนะให้ตรวจสอบคลองบริเวณสะพานก่อนที่จะทำการบูรณะ ว่าเป็นคลองสาธารณประโยชน์หรือคลองชลประทาน เพื่อประสานดำเนินการขออนุญาตตามระเบียบหรือข้อกฎหมายของหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

5. เสนอแนะให้ตรวจสอบสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์บริเวณสะพานที่จะบูรณะซ่อมแซม และจัดให้มีแผนการซ่อมแซมให้มีความปลอดภัยตามข้อกฎหมายของกรมเจ้าท่า

6. เสนอแนะให้แก้ไขเรื่องท่อระบายน้ำบริเวณสะพานข้ามคลองดำเนินสะดวก บริเวณ กม.ที่ 24+300 ถึงบริเวณปากทางบ้านแพ้ว กม.ที่ 18+900 บนทางหลวงหมายเลข 375

7. สอบถามเรื่องสะพานคลองประดู่ กม.ที่ 80+825 บนทางหลวงหมายเลข 35 จะยกระดับให้มีความสูงเท่ากับสะพานคู่ขนานหรือไม่

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ตอบข้อซักถามแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมไปพิจารณาประกอบศึกษาออกแบบต่อไป